6. ลองหาตัวแทนหรือคนที่ไว้ใจได้ หรืออาจจะเป็น Foreman มืออาชีพ มาช่วยคุมงานกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ในกรณีที่หน่วยงานอยู่ไกล หรือท่านอาจจะยุ่งกับการประชุมทั้งวัน การเลือกใช้ ตัวช่วย ก็มีประโยชน์มากทีเดียว แต่หลายท่านอาจจะบอกว่า อ้าว เราก็มีหัวหน้าช่างแล้ว ไม่ใช่หรือ ก็ถูกครับ แต่หัวหน้าช่างก็อยู่ในฐานะของคู่สัญญาอีกฝ่ายด้วยเหมือนกัน ดังนั้น หากเราจะคาดหวังให้เขามาเข้าข้างเราก็คงเป็นไปได้ยาก และหากเรามี Foreman ก็จะช่วยแบ่งเบางานเราไปได้เยอะเชียว ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้าตรวจดูหน่วยงาน หรือการเป็นที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคของการผลิตและติดตั้ง รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ที่เราอาจจะไม่ว่างมานั่งติดตามครับ (อ้อ...ตอนเลือกตัวแทนหรือ Foreman ก็ให้แน่ใจนะครับ ว่าเป็นมืออาชีพอีกเหมือนกัน ไม่อย่างนั้น แทนที่จะช่วยงานเรา กลับเป็นการเพิ่มปัญหาเป็นสองเท่าก็เป็นได้
7. อย่าเอาใจช่างมาใส่ใจท่าน อันนี้ ฟังดูก็แปลกๆ นะครับ เพราะคนไทยเรา เป็นชาติที่มีน้ำใจ พร้อมที่จะช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่สำหรับช่างแล้ว ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากจะให้ท่านทำหูทวนลมซะ จะปลอดภัยสำหรับตัวท่านเอง นี่ขนาดผมเป็นช่าง, เป็นหัวหน้าช่างเอง ยังขอออกมาเตือนเลยนะครับ เพราะช่างทุกคนพร้อมที่จะสรรหาเรื่องจุกจิก ไร้สาระมาอ้างในการทำงานอยู่เรื่อยๆ ไม่ปวดหัว ก็ตัวร้อน หรือไม่ก็ญาติป่วย พ่อตาเสีย อะไรทำนองนี้ ทางที่ดี ท่านต้องพยายามให้หัวหน้าช่างเป็นผู้ดูแลเรื่องเหล่านี้แทน และอย่าให้มาถึงตัวท่านเด็ดขาด เพื่อมิให้ช่างใช้ข้ออ้างว่าเคยคุยกับท่านแล้ว ว่ามีปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้ เลยเข้าใจว่าท่านจะอนุญาตให้ทำงานล่าช้าได้อีกหลายเดือน ทำนองเนี้ย แต่ถ้าหัวหน้าช่างมีปัญหาเสียเอง แสดงว่าท่านไม่ได้อ่านวิธีการคัดเลือกจากบทความที่แล้ว ผมก็คงต้องแนะนำให้ท่านทำใจแข็ง และวางเฉย พร้อมทั้งเน้นย้ำกับหัวหน้าช่าง ว่าท่านต้องการงานให้เสร็จภายในวันไหน และมีอะไรบ้างที่ท่านต้องการ แล้วช่างจะเลิกมาตอแยท่านเองครับ
อ้อ! ใช่ว่าผมจะทำให้ท่านกลายเป็นคนแล้งน้ำใจนะครับ แต่เชื่อผมเถอะว่าช่างทุกคน อยู่มาจนอายุปูนนี้แล้ว ปัญหาส่วนตัวต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขาก็มักจะแก้ไขกันได้เองอยู่แล้ว เรื่องของเรื่องคือช่างที่ไม่เป็นมืออาชีพ มักจะอยากได้อะไรที่มากกว่าที่ควรได้ หรืออู้งานได้นานๆ ยิ่งดี เลยเป็นที่มาของปัญหาไร้สาระทั้งหลาย ซึ่งหากท่านเชื่อได้ก็เชื่อ ไม่เชื่อก็ไม่ได้บังคับนะครับ แต่ผมอยากให้ท่านระวัง จะได้ไม่ต้องมาเสียสตางค์ในเรื่องไม่เป็นเรื่องครับ...
8. ให้ช่างทำความสะอาดหน่วยงานทุกวัน อันนี้ ผมอยากให้ท่านตั้งเป็นกฏเลยนะครับ เพราะการที่ช่างได้ทำความสะอาดหน่วยงานทุกวัน และนำออกไปทิ้งที่นอกหน่วยงานด้วย จะทำให้ช่างรู้สึกเกรงใจ และเข้าใจได้ว่าท่านเอาใจใส่กับงานของท่านมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังทำให้ท่านได้มองเห็นหน่วยงานชัดๆ เห็นรายละเอียดในส่วนที่ทำงานอย่างชัดเจน และหากงานของท่านอยู่ในบ้านที่มีการตกแต่งเสร็จแล้ว ท่านต้องระบุให้ช่างทำการปกป้องพื้นผิวที่ใกล้เคียงกับหน่วยงานด้วย มิฉะนั้น ท่านอาจจะต้องเสียเงินค่าซ่อมพื้น หรือผนังเพิ่มเติมภายหลังเสร็จงานต่อเติมแล้วก็ได้นะครับ
|